ประวัติ ม.รามคำแหง

ประวัติ
มหาวิทยาลัยรามคำแหง ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2514 บนบริเวณที่ดินประมาณ 300 ไร่เศษ บนถนนรามคำแหง แขวงหัวหมาก เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร โดยพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยรามคำแหง พ.ศ. 2514 กำหนดให้มหาวิทยาลัยรามคำแหงเป็นสถาบันการศึกษาและวิจัยแบบตลาดวิชา[1] กล่าวคือ ให้เปิดรับสมัครบุคคลเข้าเป็นนักศึกษา โดยไม่จำกัดจำนวน และไม่มีการสอบคัดเลือกนับตั้งแต่ได้รับการสถาปนาขึ้นในปี 2514 ทั้งนี้เพื่อแก้ไขการขาดแคลนสถานที่เรียนในระดับอุดมศึกษา ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญในขณะนั้น ต่อมาได้มีประกาศใช้พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยรามคำแหง พ.ศ. 2541 ขึ้นใช้บังคับแทนกฎหมายฉบับเดิม
การตรากฎหมายเพื่อจัดตั้งมหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้มีผู้เสนอร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2512 คือ นายประมวล กุลมาตย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดชุมพร สังกัดพรรคสหประชาไทย โดยในร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวยังไม่ได้ระบุชื่อมหาวิทยาลัย และสภาผู้แทนราษฎรได้มีมติรับหลักการเป็นเอกฉันท์เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2512 โดยตั้งคณะกรรมาธิการฯ ซึ่งมีพลเอกประภาส จารุเสถียร เป็นประธานกรรมาธิการเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวโดยละเอียด คณะกรรมาธิการฯ ได้พิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้แล้วเสร็จ พร้อมทั้งกำหนดชื่อมหาวิทยาลัยในร่างพระราชบัญญัตินั้นว่า "ร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยรัตนโกสินทร์ พ.ศ. ..." ก่อนที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศใช้ร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยรามคำแหง พ.ศ. ... เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2514
ระยะแรก คณะรัฐมนตรีได้อนุญาตให้ใช้อาคารสถานที่แสดงสินค้านานาชาติ ที่ตำบลหัวหมาก อำเภอบางกะปิ จังหวัดพระนคร เป็นที่ตั้งชั่วคราวจนกระทั่งเดือนตุลาคม พ.ศ. 2515 จึงได้อนุญาตให้สถานที่ดังกล่าวเป็นที่ตั้งถาวร และได้มีการประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์สถานที่ประดิษฐานพระบรมราชานุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหงมหาราช เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2515 โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหงมหาราช และพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตมหาวิทยาลัยรามคำแหงรุ่นแรก ในวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2518 ซึ่งถือว่าเป็นวันประวัติศาสตร์ของมหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยได้กำหนดให้ วันที่ 26 พฤศจิกายนของทุกปี เป็นวันสถาปนามหาวิทยาลัยรามคำแหง
ด้วยความเป็นมหาวิทยาลัยตลาดวิชา ระบบการศึกษาของมหาวิทยาลัยรามคำแหงจึงเปิดโอกาสให้นักศึกษาสามารถเลือกวิธีเรียนที่เหมาะสมกับความต้องการและความจำเป็นของแต่ละบุคคล จึงจัดให้มีการบรรยายในชั้นเรียน สำหรับผู้ที่จะเข้าฟังบรรยายในชั้นเรียน และจัดให้มีสื่อการสอนทางไกลเพื่อศึกษาด้วยตนเอง เช่น ตำราเรียน การบรรยายผ่านวิทยุและโทรทัศน์ ตลอดจนอินเทอร์เน็ต เพื่อให้นักศึกษาที่มีภาระการงาน หรืออยู่ในท้องถิ่นห่างไกลไม่สามารถเดินทางมาเรียนอย่างสม่ำเสมอได้ อย่างไรก็ตาม ในบางสาขาวิชาที่ต้องมีการฝึกปฏิบัติหรือจำเป็นต้องศึกษาจากผู้สอนอย่างใกล้ชิด มหาวิทยาลัยหรือภาควิชาอาจกำหนดให้นักศึกษาต้องเข้าชั้นเรียน โดยเฉพาะคณะวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ รวมถึงคณะอื่นๆ ในบางรายวิชา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น